ฮวงจุ้ยวิบากกรรม


เมื่อมีเกิดก็ย่อมมีดับ มีรุ่งโรจน์ก็ย่อมมีรุ่งริ่ง 
ทุกสรรพสิ่งล้วนอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่คงทนถาวร ไม่จีรังยั่งยืน 


แม้แต่อาณาจักรของจักรพรรดิฉินซียังมีโอกาสล่ม จักรวรรดิโรมันยังมีโอกาสสลายได้ นับประสาอะไรกับ อำนาจ วาสนา บารมี และทรัพย์สินศฤงคาร มีได้ก็ย่อมเสื่อมได้เช่นกัน ทั้งสถาบัน ธุรกิจ มูลนิธิ องค์กร ฯลฯ ย่อมได้รับผลตามกรรมที่กระทำไว้ตามลิขิตฟ้า ชะตาดิน และวิถีชีวิตคน ที่เรียกว่า ศาสตร์ดุลยอัตลักษณ์ (Identity Balancing) หรือ ศาสตร์ 堪天輿地(คำทีอื๋อตี่) นั่นเอง

นอกเหนือจากผลบุญกรรมที่ได้สั่งสมไว้ในช่วงอดีต อีกทั้งการกระทำตามวาระแห่งกรรมในช่วงปัจจุบัน ย่อมสะท้อนเป็นปรากฏออกมาตามลิขิตฟ้าและวิถีชีวิตจากน้ำมือคนแล้ว ชะตาดินเป็นอีกหลักปัจจัยหนึ่ง ขององค์ 3 แห่งดุลยอัตลักษณ์ (Identity Balancing) 堪天輿地 (คำทีอื๋อตี่) ที่สามารถส่งสัญญาน ให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ รุ่งเรือง หรือความรุ่งริ่ง เสื่อมถดถอย ล่มสลายไปได้

แปลกไหมละครับ ... บางธุรกิจ องค์กร สถาบัน มูลนิธิ หรือแม้แต่สำนัก วัดวาอาราม อันรโหฐานใหญ่โต จากเดิมที่มีพื้นที่อันน้อยนิดกลับพลิกฟื้นเติบโตเจริญรุ่งเรืองขึ้น แต่ครั้นเมื่อมีการขยับขยายพื้นที่ให้กว้างใหญ่ ไพศาล 

เมื่ออวิชชาเข้าครอบงำจึงละเลย "หลักสมดุลแห่งชะตาดิน" ความเสื่อมบังเกิด ความศรัทธาถดถอย ความเชื่อมั่นเลื่อนลอยไม่มั่นคง ส่งผลให้สูญสิ้น อำนาจ วาสนา บารมี และทรัพย์สินเงินทองได้

หลักปัจจัยทำให้เกิดฮวงจุ้ยวิบากกรรมได้ต้องมีเงื่อนไข ดังนี้

- พื้นที่เว้าแหว่ง
- พื้นที่มีรูปทรงตัว L ลักษณะคล้ายขอแขวน
- พื้นที่อกแตก จากถนนหรือคลองผ่ากลาง
- กระแสพลังหยิน&หยางขาดสมดุล
- สี่สัตว์ขาดหาย
- รูปลักษณะอาคารพิฆาตทิศทาง
- ฯลฯ

เช่น วัดชื่อดังแห่งหนึ่งที่เดิมทีเริ่มจากพื้นที่รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพียงไม่กี่ร้อยไร่ แต่ต่อมาได้มีการก่อสร้างขยายพื้นที่ ฝั่งด้านตะวันตกจากหน้าจรดหลังอีกกว่าสองพันไร่ ทำให้เกิดเป็นรูปทรงตัว L ลักษณะคล้ายขอแขวน ซึ่งเป็น ”วิบากทางศาสตร์ฮวงจุ้ย” เหตุเพราะจุดศูนย์กลางที่ประดุจดั่งหัวใจอยู่นอกพื้นที่ 

โดยมีลักษณะเว้าแหว่ง ตำแหน่งทิศตะวันออก 震卦(จิ้งข่วย) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ艮卦(กึ๊งข่วย) ทิศเหนือ 坎卦(ข่ำข่วย) ทิศตะวันออกเฉียงใต้ 巽卦(สุ่งข่วย) และทิศใต้ 离卦(ลี้ข่วย) บางส่วน 

โดยศาสตร์ตำรา 風水(ฮวงจุ้ย) แขนง 易經(อี้จิง) จะสื่อความหมายของทิศไว้ ดังนี้ 

- ทิศตะวันออก 震卦(จิ้งข่วย) หมายถึง หัวหน้า ก้าวร้าว โรคขา โรคที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว จานบิน ฯลฯ 

- ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 艮卦(กึ๊งข่วย) หมายถึง วัด พระภิกษุ คนที่จากบ้าน ดื้อ ยอมหักไม่ยอมงอ ผิวหนัง มือ เท้า ฯลฯ 

- ทิศเหนือ 坎卦(ข่ำข่วย) หมายถึง นักวางแผน มากกิเลส ทำผิดกฏหมาย ฟ้องร้อง ติดคุก โรคเลือด โรคไต โรคระบบทางเดินปัสสาวะ บวม โรคหู ฯลฯ

- ทิศตะวันออกเฉียงใต้ 巽卦(สุ่งข่วย) หมายถึง พระ นักเทศน์ นักสร้างข่าว เล่ห์เหลี่ยม ไม่มีน้ำใจ ซ่อนเร้น โกหก โรคประสาท โรคซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับลม โรคเกี่ยวกับต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ

- ทิศใต้ 离卦(ลี้ข่วย) หมายถึง คนที่มีปัญหาด้านสายตา คนใส่แว่นตา ปากหวาน เสื้อเกราะ โรคเลือด โรคหัวใจ โรคระบบสมอง ฯลฯ 

ทั้งรูปลักษณ์ดังกล่าว ลักษณะสี่สัตว์ขาดหาย ฝั่งเสือขาว 白虎 (แป๊ะโฮ้ว) มีกำลังมากที่สุด มวลชน ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่จึงเป็นเพศหญิง เพราะแม้แต่ด้านหลังฝั่งเต่าดำ 玄武(เหี่ยงบู้) ตำแหน่งเพศชาย ยังมีสระน้ำอีก จึงผิดหลักสี่สัตว์ 四獸(ซี๊ซิ่ว) ที่ว่าด้านหลังต้องมีเขา ด้านหน้าต้องมีน้ำ 陰陽(อิมเอี๊ยง) จึงขาดสมดุล 

ทั้งยังมีถนนผ่ากลางแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่งสองฝ่าย จากด้านหน้าทิศใต้จรดด้านหลังทิศเหนือ ทำร้ายตำแหน่งทิศประธานพอดี ส่งผลให้ขาดผู้หลักผู้ใหญ่สนับสนุนอย่างจริงจัง สถานที่ดังกล่าวจึงได้รับผล กระทบตามกระแสพลังชะตาดินที่แฝงความหมายในตำแหน่งทิศที่ขาดหายไป

จากสิ่งนั้นมีอยู่สิ่งนี้จึงเกิด จากเหตุและผล ตามหลักอิทัปปัจจยตา กฏแห่งจักรวาล กฏความจริงสูงสุดของธรรมชาติ ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ เมื่อช่วงห้วงเวลาเหมาะสมกฏแห่งธรรมชาติย่อมแสดงเป็นผลขึ้น เพราะสรรพสิ่งล้วนเป็นอนัตตาต่างต้องอยู่ในกรอบเกณฑ์กระแสพลังธรรมชาตินี้ทั้งสิ้น