เสริมเฮง...ไหว้เซ่น...สร้างรวย ปีฉลู 2564


ในหมู่ชนเชื้อสายจีนตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไปจนถึงระดับชั้นผู้นำต่างล้วนมีความเชื่อที่ยาวนานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานับพันปี ยังคงซึ่งรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีประกอบพิธีอัญเชิญองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) เข้าสู่เคหสถานบ้านเรือนหรือร้านค้าในเทศกาลตรุษจีน เพื่อความโชคดีมากมีด้วยทรัพย์สินเงินทอง หรือเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในการประกอบธุรกิจการค้าให้บังเกิดขึ้นในปีนั้นๆ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความเป็นสากลที่คงถาวรเป็นอย่างยิ่ง

ในปีพ.ศ.2564นี้ เป็นปีฉลู 辛丑 (ซิงทิ้ว) ที่มีกระแสพลังธาตุ 納音(หนับอิม) เป็นธาตุดิน ตามปฏิทินจันทรคติของจีนวันขึ้นปีใหม่หรือวันตรุษจีน 正月初一 (เจียหงวยชิวอิก) จะตรงกับวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึงเป็นวันเถาะทอง 辛卯 (ซิงเบ้า) คำนวนด้วยวิชาโหราศาสตร์จีนโบราณแล้ว ทิศทางที่องค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) จะเสด็จมาทางทิศตะวันออก โดยใช้ยามแรกเริ่มศักราชใหม่ทางจันทรคติจีน ตั้งแต่เวลา 00.01-00.59 น.เป็นฤกษ์เบิกฟ้าที่ดีที่สุด

เครื่องสักการะบูชาต่อองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) มีดังนี้

1. ธูปหอม 3 ดอก
2. แจกัน 1 คู่                                        
3. ดอกไม้สด 2 กำ                                 
4. เทียนแดง 1 คู่                                              
5. น้ำชา 茶(แต๊) 5 ถ้วย
6. ข้าวสวย 5 ชาม
7. ผลไม้ 5 อย่าง
8. ขนมบัวลอยแดง 紅丸(อั่งอี๊) 5 ถ้วย
9. ขนมจันอับ 什錦(จับกิ้ม) 1 จาน
10. ผักเจ 齋荼(เจไฉ่) 5 อย่าง
11. ขนมถ้วยฟู 發粿(ฮวกก้วย) 1 ก้อน
12. 添頭銭(เทียงเถ่าจี้) 1 ชุด
13. 金銀斗(กิมหงิ่งเต้า) 1 คู่
14. 銀紙銭(หงิ่งเตี๋ย) 12 ชุด
15. 大銭(ตั่วกิม) 12 ก้อน
16. เทียบแดง 紅帖(อั่งเถียบ) 1 ชุด
17. เทียบเขียว 青帖(แชเถียบ) 1 ชุด
18. กระเป๋าใส่เงิน
 
หมายเหตุ          หากไม่มีภาพหรือรูปองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) ก็ให้กล่าวคำอธิษฐานถึงพระองค์เทพท่านก็เป็นอันใช้ได้
 
การประกอบพิธีสักการะบูชาองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) ควรจัดเตรียมโต๊ะพร้อมเครื่องสักการะบูชาหันหน้าไปสู่ทางทิศตะวันออก (กรณีที่ไม่สามารถจัดเตรียมเครื่องบวงสรวงสักการะบูชาแต่มีศรัทธาอันแรงกล้าก็สามารถใช้แค่เพียงจุดธูปเทียนก็ได้) เพื่อต้อนรับองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) ที่จะเสด็จมาทางทิศข้างต้นนี้ โดยเทียบแดง 紅帖(อั่งเถียบ)ให้เขียนคำเชิญ “迎接財神” (เหง็งจิกไฉ่ซิ้ง) เพื่อมารับเครื่องสักการะบูชา ส่วนเทียบเขียว 青帖(แชเถียบ) ให้เขียน ที่อยู่ ชื่อสกุล และวัน เดือน ปีเกิดของสมาชิกในบ้านทุกคน พร้อมทั้งคำขอต่างๆที่ต้องการให้องค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) ประทานพรมาให้

โดยกล่าวคำอธิษฐานอัญเชิญด้วยการเปล่งวาจาออกมาว่า

“บัดนี้เป็นเวลาฤกษ์ยามอันเป็นมงคล ข้าพเจ้า........................................................... ด้วยความเคารพและศรัทธาต่อองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ“財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) เป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าขอกราบอัญเชิญองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) เสด็จมารับเครื่องบวงสรวงสักการะบูชาอันประกอบด้วย (กล่าวถึงเครื่องสักการะบูชาทั้งหมด อีกทั้งรายละเอียดที่เขียนไว้ในเทียบเขียว 青帖(แชเถียบ) พร้อมทั้งดลบันดาลประทานพรผ่านสื่อข้าวสาร (ข้าวสารที่ตั้งรอไว้ในวันส่งองค์เทพเจ้าสู่สรวงสรรค์ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา) ให้ข้าพเจ้าและสมาชิกทุกคนๆในครอบครัวจงประสบกับโชคลาภทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนพบกับผลสำเร็จดังที่มุ่งหวังตั้งใจไว้ทุกๆประการเทอญ”
(หากประสงค์นอกเหนือจากคำกล่าวอธิษฐานข้างต้นแล้ว ก็สามารถกล่าวคำขอเพิ่มเติมต่อไปได้อีก)

จากนั้นนำเงินในกระเป๋าที่โต๊ะบูชามานับ (โดยสมมติว่า ธนบัตร 1 ใบจะเป็นจำนวนหมื่น หรือแสน หรือล้านก็ได้ เพื่อให้นับไม่รู้จบสิ้น) ต่อจากนั้นนำเครื่องบวงสรวงที่เป็นกระดาษทั้งหมดรวมทั้งเทียบแดง 紅帖(อั่งเถียบ) และเทียบเขียว 青帖(แชเถียบ) ที่ได้จัดเตรียมไว้ลาต่อหน้าองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) เพื่อนำไปบูชาไฟถวายแด่พระองค์ท่านฯ และหลังจากบูชาไฟเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้กล่าวคำอัญเชิญองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) ให้เสด็จเข้าบ้าน พร้อมทั้งนำกระถางธูปเข้าผ่านประตูบ้านเพื่อให้องค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “財神爺” (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) เสด็จประทับ ณ ที่บ้านของท่าน อีกทั้งนำข้าวสารที่ผ่านการประกอบพิธีกรรมนำมาผสมกับข้าวสารที่เก็บไว้เพื่อหุ้งรับประทานจะได้เกิดความสิริมงคลต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว เป็นอันสำเร็จเสร็จสิ้นพิธีการบวงสรวงครบถ้วนกระบวนความในปี พ.ศ.2564 นี้